เกี่ยวกับเรา
Click ที่หัวข้อเพื่อรับชมรายละเอียด
ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีให้ความสำคัญด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมบูรณาการกับ การเรียนการสอน โดยได้ดำเนินกิจกรรมด้านนี้มาตั้งแต่ยังเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษา (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๓) กิจกรรมหลักที่จัดขึ้น ได้แก่ กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พิธีไหว้ครู ประเพณีการแห่เทียนพรรษา และเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ในการผลิตครูการช่างสตรี งานศิลปะและวัฒนธรรมจึงปรากฏออกมาในงานการบ้านการเรือน เช่น งานประดิษฐ์ต่าง ๆ งาน ฝีมือ งานเย็บปักถักร้อย เป็นต้น
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๔ โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษาได้โอนมาสังกัดกรมการฝึกหัดครูและได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยครูธนบุรี ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ งานด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมก็ได้ดำเนินต่อมาโดยความร่วมมือของคณาจารย์และนักศึกษาของวิทยาลัยครูธนบุรี
เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช ๒๕๑๘ ให้วิทยาลัยครูมีหน้าที่ในการผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ค้นคว้าวิจัยและบริการวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยครูธนบุรีจึงได้ดำเนินภารกิจด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมควบคู่กับงานวิชาการตลอดมาและ ใน พ.ศ.๒๕๒๐ วิทยาลัยครูธนบุรีได้เข้าเป็น หน่วยประเคราะห์ของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย กรมการศาสนา โดยมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูธนบุรี ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในสถานศึกษาร่วมมือกับหน่วยราชการและองค์การต่าง ๆ ในการส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมไทย จัดนิทรรศการทางวัฒนธรรมขึ้นเป็นครั้งคราว ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้า และจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยทั้งทางตรงหรือโดยผ่านสื่อมวลชน ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ กิจกรรมด้านการทำนุบำรุง ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมปรากฏออกมาในลักษณะรับใช้สังคมมากขึ้น กล่าวคือ นอกจากกิจกรรมหลักที่จัดกันเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
สำหรับงานด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมีกรอบโครงสร้างที่ชัดเจนเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) พุทธศักราช ๒๕๒๒ ซึ่งวิทยาลัยครูธนบุรีได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการให้มีการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครู โดยมีอธิการบดีเป็นประธานศูนย์วัฒนธรรมโดยตำแหน่งและแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเป็นเลขานุการศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูเป็นผู้ดำเนินงาน นอกจากนี้กรมการฝึกหัดครูยังกำหนดให้มีวิทยาลัยครูมีภารกิจ หลักสำคัญประการหนึ่ง คือ งานส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ดังนั้นศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูทุกแห่งจึงมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยรับนโยบายจาก กรมการฝึกหัดครู และ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูธนบุรีจะได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ แต่ได้มีพิธีเปิดป้ายที่ทำการของศูนย์วัฒนธรรม พร้อม ๆ กับการเปิดหอวัฒนธรรมใน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี และในปีเดียวกันนี้เอง ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูธนบุรี ได้รับโล่จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะที่มีผลงานดีเด่นจาก โครงการจัดนิทรรศการความเป็นอยู่อย่างไทย ครั้งที่ ๓ นับเป็นเกียรติและชื่อเสียงของวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง
การดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรม (หรือศูนย์ศิลปวัฒนธรรม) วิทยาลัยครูธนบุรีในช่วงระยะเวลานี้ (พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๗) เป็นไปในรูปของการปฏิบัติงานตามโครงการซึ่งแต่ละโครงการจะเป็นภาคปฏิบัติที่สอดคล้องและส่งเสริมงานวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวได้ว่าโครงการต่าง ๆ ของศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูธนบุรี เป็นการนำความรู้และทฤษฎีที่ได้จากการเรียนการสอนไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมไปสู่โรงเรียนและประชาชน ทั้งยังเป็นการฝึกการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมของนักศึกษาเพื่อให้ได้แนวทางไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อออกไปเป็นครูในอนาคตอีกด้วย
ใน พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๓๐ การปฏิบัติงานเป็นไปในรูปการปฏิบัติงานตามโครงการประจำปีและโครงการที่หน่วยงานอื่นขอความร่วมมือทั้งทางด้านวิชาการ และด้านเผยแพร่งานทางศิลปวัฒนธรรม และตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๔๐ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม (หรือศูนย์วัฒนธรรม) วิทยาลัยครูธนบุรีได้ดำเนินงานเป็นไปตามแผนและนโยบายของรัฐทุกประการ มีโครงการที่นับว่าเป็นประโยชน์ที่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกปี คือ โครงการเผยแพร่วัฒนธรรมการแสดงดนตรีนาฏศิลป์ไทยทั้งในและต่างประเทศ และโครงการจัดเก็บข้อมูลทำเป็นเอกสารออกเผยแพร่ มีผู้ให้ความสนใจนำเอกสารไปศึกษาค้นคว้า และวิจัยงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นธนบุรีได้เป็นอย่างดี
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๔๑ สถาบันราชภัฏธนบุรี (หรือวิทยาลัยครูธนบุรี) ได้ปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานของ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เป็น สำนักศิลปวัฒนธรรม โดยมีโครงการและการปฏิบัติงานเช่นเดิม แต่ได้เน้นการบริหารและดำเนินการให้มีการพัฒนาให้กว้างขวางขึ้น จากนั้นใน พ.ศ.๒๕๔๒ สำนักศิลปวัฒนธรรมได้รับงบประมาณสร้างหอวัฒนธรรมเพื่อเปิดให้บริการข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นธนบุรีทุกด้านอย่างสมบูรณ์แบบ และใน พ.ศ.๒๕๔๗ สำนักศิลปวัฒนธรรมได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗
ในปัจจุบันสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่ห้อง ๔๑๑ อาคาร ๔ ชั้น ๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ
ปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
ปรัชญา
ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและบูรณาการกับภูมิปัญญาสากล
ปณิธาน
นำภูมิปัญญาไทยสู่นานาชาติ
วิสัยทัศน์
เป็นแหล่งบริการข้อมูล อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาคุณค่าสู่สากล ปลูกฝังค่านิยมให้รู้คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไทย
พันธกิจ
๑. เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยให้มีการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ สืบสานและพัฒนาอย่างยั่งยืน
๒. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีหอวัฒนธรรมที่ได้มาตรฐานสากล
๓. สร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนานาชาติ
๔. รวบรวมข้อมูล สร้างงานวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
๕. ปลูกฝังค่านิยม จิตสำนึกให้เยาวชนและชุมชนเกิดความภูมิใจ รู้คุณค่าและรักศิลปวัฒนธรรมไทย
วัตถุประสงค์
๑. เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา เผยแพร่ ศิลปะและวัฒนธรรมไทย
๒. เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทยและนานาชาติ
๓. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
๔. เพื่อบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นกับภูมิปัญญาสากล และบูรณาการกับการเรียนการสอน
๕. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย
๖. เพื่อปลูกฝังค่านิยมสร้างจิตสำนึก จิตอาสา รู้คุณค่าศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาและชุมชน
บทบาท หน้าที่ และการบริหารจัดการ
บทบาทและหน้าที่ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานด้านทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นไปตามภารกิจของมหาวิทยาลัย และเป็นไปตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา อีกทั้งทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานรวบรวมข้อมูลศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดบริการวิชาการแก่ชุมชน และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
การบริหารจัดการงานของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
สำนักศิลปะและวัฒนธรรมเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ มีผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้บังคับบัญชา และรองผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการงานในสำนัก โดยงานที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้
๑. งานแผนพัฒนาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
๒. งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
๓. งานให้บริการทางวิชาการแก่สังคม
๔. งานประกันคุณภาพการศึกษา
๕. งานอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งภายในประเทศและนานาชาติ
๖. งานพัสดุครุภัณฑ์ และงานการจัดซื้อ-การจัดจ้าง
๗. งานธุรการและสารบรรณ
๘. งานพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะและวัฒนธรรม
๙. งานจัดการหอวัฒนธรรม (สมุทรปราการ)
๑๐. งานจัดการหอเกียรติยศ (กรุงเทพมหานคร)
๑๑. งานการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก
๑๒. งานบริการข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม
ทีมงานของเรา
อาจารย์นิชาภา พิมพสุต
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการ
หน้าที่ : กำกับดูแลงานบริหารและงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ผศ.ดร.วงศกร เพิ่มผล
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการ
หน้าที่ : กำกับดูแลการบริหารสำนักงานและงานพัสดุ
อาจารย์สมชาย ศรีรักษ์
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการ
หน้าที่ : กำกับดูแลงบประมาณและงานประกันคุณภาพการศึกษา
อาจารย์เอกรินทร์ ตั้งนิธิบุญ
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการ
หน้าที่ : กำกับดูแลประสานงานกิจการนักศึกษา
นางสาวจิราภรณ์ กาญจนสุพรรณ
ตำแหน่ง : นักวิชาการศึกษา
หน้าที่ : งานดนตรีไทยและการแสดงพื้นบ้านงานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภายในประเทศและต่างประเทศ
นางสาวแอนนา เกตุไพฑูรย์
ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
หน้าที่ : งานทะเบียน สารบรรณ งานจัดซื้อจัดจ้างและประสานงานทั่วไป
นายเมธา แสงเดือนฉาย
ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่ธุรการ
หน้าที่ : งานโสตทัศนูปกรณ์ พัสดุ ครุภัณฑ์งาน และประสานงานทั่วไป
ติดต่อเรา
สำนักศิลปะและวัฒนธรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 172 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600 |
|
โทร : 02-xxx-xxxx | |
Fax : 02-xxx-xxxx | |
e-mail : culture@dru.ac.th |